วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสังคมมนุษย์

กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ (social science) คือ สาขาวิชาที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาโลกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หน่วยสังคมต่าง ๆ ของมนุษย์ รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ วิชาในสังคมศาสตร์แตกต่างจากวิชาในกลุ่มมนุษยศาสตร์ เนื่องจากหลาย ๆ สาขาวิชาในสังคมศาสตร์เน้นการหาความรู้และความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินพฤติกรรมของมนุษย์และปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยกระบวนการแบบปฏิฐานและประจักษ์นิยม ทั้งเชิงปริมาณ (quantitative method) และเชิงคุณภาพ (qualitative method) อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม บางสาขาก็อาจจะนำระเบียบวิธีเชิงคุณภาพแบบการตีความ การคาดการณ์ วิเคราะห์ตามหลักปรัชญาและตรรกะ หรือความเชื่อส่วนบุคคล และการวิจารณ์มาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมในบางกรณีที่เหมาะสมหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม ระเบียบวิธีการศึกษาทางสังคมศาสตร์แบบใหม่ได้รับอิทธิพลจากสังคมศาสตร์แบบอเมริกันอย่างมาก ทำให้การศึกษาแบบปฏิฐานนิยมได้รับความนิยมและการยอมรับมากกว่าระเบียบวิธีแบบเก่าที่คล้ายคลึงกับสาขามนุษยศาสตร์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (2529: 129) ทรงกล่าวถึงความหมายของสังคมศาสตร์และขอบเขตของการศึกษาวิชานี้ไว้ว่า สังคมศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ตามความเป็นจริง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
·         สังคมศาสตร์ล้วน ได้แก่ สาขาวิชารัฐศาสตร์ (political science) เศรษฐศาสตร์ (economics) สังคมวิทยา (sociology)
·         กลุ่มวิชาที่มีส่วนเป็นสังคมศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ (history) ภูมิศาสตร์ (geography) จิตวิทยา (psychology) มานุษยวิทยา (anthropology) และ คติชนวิทยา (folklore) สามารถจัดว่าเป็นทั้งสาขาวิชาในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
การศึกษามานุษยวิทยาโดยใช้แนวทางเชิงนิเวศหรือเชิงชีววิทยานั้น จะเกี่ยวข้องอย่างมากกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science)
สำหรับ อิเล็กทรอนิกส์สังคมศาสตร์ (อังกฤษ: E-Social Science) จะเป็นการนำหลักสังคมศาสตร์ไปใช้บนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

สาขาหลัก
สาขาหลักในสาขาสังคมศาสตร์คือ
·         มานุษยวิทยา - การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในทุกแง่ทุกมุม
·         นิเทศศาสตร์ - การไหลของสารสนเทศผ่านทางสื่อต่าง ๆ
·         อาชญาวิทยา - วิทยาการที่ว่าด้วยปัญหาอาชญากรรม สาเหตุอาชญากรรม การป้องกันอาชญากรรม
·         เศรษฐศาสตร์ - การผลิต และการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งในสังคม
·         คติชนวิทยา - การศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตแบบชาวบ้านชาวชนบท
·         ภาษาศาสตร์ - การศึกษาเกี่ยวกับภาษา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ที่มา และพัฒนาการของภาษา
·         รัฐศาสตร์ - ศึกษาการปกครองในระดับกลุ่มและในระดับประเทศ
·         นิติศาสตร์ - การศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
·         จิตวิทยา - จิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์
·         สังคมวิทยา - วิเคราะห์สังคมมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น