วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เราศึกษาสังคมไปทำไม

การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องสังคมมนุษย์นั้น อาจกล่าวถึงผลที่พึงจะได้รับเป็นดังต่อไปนี้

                ประการแรก เข้าใจว่าลักษณะ รูปแบบ และโครงสร้างของสังคมที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นเพียงสังคมหนึ่งในสังคมหลายๆแบบในโลก การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของสังคมประเภทต่างๆจะทำให้เรามองเห็นว่าสภาพสังคมของตนเป็นเช่นไร ความเข้าใจในสังคมของตนและสังคมอื่นๆ จะทำให้เราทราบถึงกลไกการทำงานของสังคม สถาบันระบบความคิด ความเชื่อศาสนา ตลอดจนวิถีและแนวทางประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้นำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่สังคมได้กำหนดขึ้น




                ประการที่สอง จากสมมติฐานที่ว่า คนเราจะแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวต่างหากไม่ได้ จำเป็นต้องมีการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งที่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานและคนอื่นๆในสังคม หรือแม้แต่คนที่มาจากสังคมอื่น ความเข้าใจเกี่ยวกับคนและวัฒนธรรมจะทำให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อสมาชิกร่วมสังคมและสมาชิกร่วมโลกเพื่อให้การดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความเข้าใจในสถานภาพและบทบาทของตนและผู้อื่นจะทำให้เราสามารถแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้อง ไม่เคอะเขินหรือไม่บาดหมางกับผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ทำให้เราเข้าใจและมีใจกว้างพอที่จะยอมรับคนอื่น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสีผิว ภาษา และวัฒนธรรม เชื้อชาติและชนชั้น ตลอดจนความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปจากเรา การอยู่ร่วมกันแบบมีความเข้าใจระหว่างมวลสมาชิกจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่จะจรรโลงความเป็นอารยะของมนุษย์


                ประการที่สาม ปรากฏการณ์สังคมที่เป็นโทษ เช่น การมีอาชญากรรม แหล่งเสื่อมโทรม ความยากจน การขัดแย้งระหว่างชนชั้น การไร้การศึกษา ความด้อยพัฒนา โสเภณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัญหา ที่คนในสังคมมักจะประสบอยู่เสมอ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาทำให้เราเข้าใจว่าไรเป็นสาเหตุที่กำหนดพฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้นขึ้นมา ยิ่งในสมัยปัจจุบันเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาต่างๆเกี่ยวพันเป็นลูกโซ่ หากทุกคนสามารถเข้าใจปัญหา ก็สามารถร่วมกันแก้ไขให้หมดไป



                ประการสุดท้าย การศึกษาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือวิชาไหนก็ตามย่อมมีส่วนเกี่ยวพันกับผู้คนในสังคม จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาสังคมควบคู่ไปด้วย

                
                จะเห็นได้ว่าความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ด้านสังคมมนุษย์จึงมีมาก และต้องทำการศึกษาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหาและปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นแปลกๆใหม่ๆอยู่เสมอ ยิ่งต่างเวลาและต่างสถานที่แล้ว ยิ่งเป็นความรู้ใหม่ที่ต้องพยายามค้นคว้าเพื่อหาข้อเท็จจริง




อ้างอิง : ดำรงค์ ฐานดี. (2555). ปรัชญาว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์. ใน สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเบื้องต้น
                (หน้า 1-2). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น