วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เราศึกษาสังคมไปทำไม

การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องสังคมมนุษย์นั้น อาจกล่าวถึงผลที่พึงจะได้รับเป็นดังต่อไปนี้

                ประการแรก เข้าใจว่าลักษณะ รูปแบบ และโครงสร้างของสังคมที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นเพียงสังคมหนึ่งในสังคมหลายๆแบบในโลก การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของสังคมประเภทต่างๆจะทำให้เรามองเห็นว่าสภาพสังคมของตนเป็นเช่นไร ความเข้าใจในสังคมของตนและสังคมอื่นๆ จะทำให้เราทราบถึงกลไกการทำงานของสังคม สถาบันระบบความคิด ความเชื่อศาสนา ตลอดจนวิถีและแนวทางประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้นำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่สังคมได้กำหนดขึ้น




                ประการที่สอง จากสมมติฐานที่ว่า คนเราจะแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวต่างหากไม่ได้ จำเป็นต้องมีการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งที่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานและคนอื่นๆในสังคม หรือแม้แต่คนที่มาจากสังคมอื่น ความเข้าใจเกี่ยวกับคนและวัฒนธรรมจะทำให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อสมาชิกร่วมสังคมและสมาชิกร่วมโลกเพื่อให้การดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความเข้าใจในสถานภาพและบทบาทของตนและผู้อื่นจะทำให้เราสามารถแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้อง ไม่เคอะเขินหรือไม่บาดหมางกับผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ทำให้เราเข้าใจและมีใจกว้างพอที่จะยอมรับคนอื่น ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสีผิว ภาษา และวัฒนธรรม เชื้อชาติและชนชั้น ตลอดจนความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปจากเรา การอยู่ร่วมกันแบบมีความเข้าใจระหว่างมวลสมาชิกจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่จะจรรโลงความเป็นอารยะของมนุษย์


                ประการที่สาม ปรากฏการณ์สังคมที่เป็นโทษ เช่น การมีอาชญากรรม แหล่งเสื่อมโทรม ความยากจน การขัดแย้งระหว่างชนชั้น การไร้การศึกษา ความด้อยพัฒนา โสเภณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัญหา ที่คนในสังคมมักจะประสบอยู่เสมอ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาทำให้เราเข้าใจว่าไรเป็นสาเหตุที่กำหนดพฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้นขึ้นมา ยิ่งในสมัยปัจจุบันเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาต่างๆเกี่ยวพันเป็นลูกโซ่ หากทุกคนสามารถเข้าใจปัญหา ก็สามารถร่วมกันแก้ไขให้หมดไป



                ประการสุดท้าย การศึกษาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือวิชาไหนก็ตามย่อมมีส่วนเกี่ยวพันกับผู้คนในสังคม จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาสังคมควบคู่ไปด้วย

                
                จะเห็นได้ว่าความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ด้านสังคมมนุษย์จึงมีมาก และต้องทำการศึกษาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหาและปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นแปลกๆใหม่ๆอยู่เสมอ ยิ่งต่างเวลาและต่างสถานที่แล้ว ยิ่งเป็นความรู้ใหม่ที่ต้องพยายามค้นคว้าเพื่อหาข้อเท็จจริง




อ้างอิง : ดำรงค์ ฐานดี. (2555). ปรัชญาว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์. ใน สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเบื้องต้น
                (หน้า 1-2). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หน้าที่ของสังคม

       สังคมมีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของสมาชิกให้ดำรงชีวิตด้วยความสุขปลอดภัยพร้อม ๆ กันนั้นก็มีหน้าที่ในการจัดระเบียบทางสังคมให้ดำรงอยู่ต่อไปอาจจำแนกหน้าที่ได้   ดังนี้ 
       1.  ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ทดแทนสมาชิกที่ตายไปแล้วอย่างต่อเนื่อง 
       2.  อบรมเลี้ยงดูสมาชิกให้รู้ระเบียบแบบแผนของสังคม 
       3.  ผลิตสินค้าและบริการมีการทำงานกันระหว่างสมาชิก 
       4.  ธำรงรักษาไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนของสังคม 
       5.  สังคมมีหน้าที่ป้องกันชีวิตของสมาชิกจากอันตรายต่าง ๆ 
       6.  สังคมมีหน้าที่อำนวยความสะดวก   ให้การติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันในหมู่สมาชิก 
       7.  ระบบการควบคุมสังคม สังคมมีหน้าที่ทำให้สังคมเป็นระเบียบเกิดความสงบสุข

สรุป สังคมมีหน้าที่จัดระบบต่าง ๆ ให้สามารถสนองความต้องการพื้นฐานของสมาชิกอันได้แก่  ผลิต  กระจายสินค้าและบริการ  สร้างระบบป้องกัน  และสื่อสาร  ตลอดจนทำหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของสังคมโดยใช้ระบบการควบคุมอันได้แก่  กฎเกณฑ์  ค่านิยม  ความเชื่อ  การให้รางวัล  การลงโทษ  และการขัดเกลาทางสังคม 





ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสังคมมนุษย์

กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ (social science) คือ สาขาวิชาที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาโลกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หน่วยสังคมต่าง ๆ ของมนุษย์ รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ วิชาในสังคมศาสตร์แตกต่างจากวิชาในกลุ่มมนุษยศาสตร์ เนื่องจากหลาย ๆ สาขาวิชาในสังคมศาสตร์เน้นการหาความรู้และความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินพฤติกรรมของมนุษย์และปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยกระบวนการแบบปฏิฐานและประจักษ์นิยม ทั้งเชิงปริมาณ (quantitative method) และเชิงคุณภาพ (qualitative method) อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม บางสาขาก็อาจจะนำระเบียบวิธีเชิงคุณภาพแบบการตีความ การคาดการณ์ วิเคราะห์ตามหลักปรัชญาและตรรกะ หรือความเชื่อส่วนบุคคล และการวิจารณ์มาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมในบางกรณีที่เหมาะสมหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม ระเบียบวิธีการศึกษาทางสังคมศาสตร์แบบใหม่ได้รับอิทธิพลจากสังคมศาสตร์แบบอเมริกันอย่างมาก ทำให้การศึกษาแบบปฏิฐานนิยมได้รับความนิยมและการยอมรับมากกว่าระเบียบวิธีแบบเก่าที่คล้ายคลึงกับสาขามนุษยศาสตร์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (2529: 129) ทรงกล่าวถึงความหมายของสังคมศาสตร์และขอบเขตของการศึกษาวิชานี้ไว้ว่า สังคมศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ตามความเป็นจริง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
·         สังคมศาสตร์ล้วน ได้แก่ สาขาวิชารัฐศาสตร์ (political science) เศรษฐศาสตร์ (economics) สังคมวิทยา (sociology)
·         กลุ่มวิชาที่มีส่วนเป็นสังคมศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ (history) ภูมิศาสตร์ (geography) จิตวิทยา (psychology) มานุษยวิทยา (anthropology) และ คติชนวิทยา (folklore) สามารถจัดว่าเป็นทั้งสาขาวิชาในสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
การศึกษามานุษยวิทยาโดยใช้แนวทางเชิงนิเวศหรือเชิงชีววิทยานั้น จะเกี่ยวข้องอย่างมากกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science)
สำหรับ อิเล็กทรอนิกส์สังคมศาสตร์ (อังกฤษ: E-Social Science) จะเป็นการนำหลักสังคมศาสตร์ไปใช้บนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

สาขาหลัก
สาขาหลักในสาขาสังคมศาสตร์คือ
·         มานุษยวิทยา - การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในทุกแง่ทุกมุม
·         นิเทศศาสตร์ - การไหลของสารสนเทศผ่านทางสื่อต่าง ๆ
·         อาชญาวิทยา - วิทยาการที่ว่าด้วยปัญหาอาชญากรรม สาเหตุอาชญากรรม การป้องกันอาชญากรรม
·         เศรษฐศาสตร์ - การผลิต และการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งในสังคม
·         คติชนวิทยา - การศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตแบบชาวบ้านชาวชนบท
·         ภาษาศาสตร์ - การศึกษาเกี่ยวกับภาษา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ที่มา และพัฒนาการของภาษา
·         รัฐศาสตร์ - ศึกษาการปกครองในระดับกลุ่มและในระดับประเทศ
·         นิติศาสตร์ - การศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
·         จิตวิทยา - จิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์
·         สังคมวิทยา - วิเคราะห์สังคมมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม


ทำไมเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ?

เคยสงสัยไหมว่า เหตุใด ทำไมเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ? 

อริสโตเติล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)" เพราะมนุษย์มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมวดหมู่ มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังแต่อย่างใด เนื่องจากมนุษย์ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตนเองอยู่เสมอ สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆอย่างให้กับตนเอง
สังคมในทุกระดับชั้นเป็นแหล่งรวมคนหลายๆคนเข้าด้วยกัน ซึ่งในจำนวนผู้คนเหล่านั้น แต่ละคนต่างก็มีชีวิต มีจิตวิญญาณ มีความรู้สึกนึกคิดและมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันออกไป และด้วยเหตุนี้เองบางครั้งจึงทำให้สังคมต้องเกิดปัญหาหรือมีความสับสนวุ่นวายขึ้น อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความคิดของแต่ละคน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่สังคมมีปัญหาขึ้นจะเป็นด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปได้ ก็หาเป็นใครที่ไหนไม่ หากแต่เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกๆ คนนั่นเอง ที่จะต้องสามัคคีร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมของตนเองให้ดีและมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น 
ปลวกซึ่งเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ แต่ในความเล็กนั้น ปลวกกลับสามารถที่จะสร้างจอมปลวกอันเข้มแข็งใหญ่โตเท่าภูเขาลูกเล็กๆขึ้นมาได้ ซึ่งลมฝนและพายุไม่สามารถจะทำลายลงได้ ทั้งนี้ก็เพราะปลวกเป็นสัตว์ที่รู้จักช่วยเหลือกัน รู้จักความสามัคคี ทำงานกันเป็นทีม และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่อยู่ตลอดเวลา 
ความสามัคคีจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จทั้งปวง ความสามัคคีจึงเป็นแหล่งพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่สมาชิกในสังคมทุกๆคนควรที่จะตระหนัก เอาใจใส่ และสร้างสรรค์ขึ้นให้มากที่สุด



อ้างอิง : http://www.kroobannok.com/blog/12093